วันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การอ่าน

การส่งสารด้วยการอ่าน
          การอ่านออกเสียงร้อยแก้ว หมายถึง การอ่านถ้อยคำที่มีผู้เรียบเรียงหรือประพันธ์ไว้ โดยการเปล่งเสียง และวางจังหวะเสียงให้เป็นไปตามความนิยม และเหมาะสมกับเรื่องที่อ่าน เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ไปสู่ผู้ฟัง ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ร่วมคล้อยตามไปกับเรื่องราว หรือรสประพันธ์ที่อ่าน
หลักเกณฑ์ในการอ่านออกเสียงร้อยแก้ว
๑.  ก่อนอ่านควรศึกษาเรื่องที่อ่านให้เข้าใจ เพื่อเเบ่งวรรคตอน
๒.  อ่านให้คล่อง และเสียงดังพอเหมาะกับสถานที่และจำนวนผู้ฟัง
๓.  อ่านให้คล่องและถูกต้องตามอักขรวิธี โดยเฉพาะ ร ล คำควบกล้ำต้องออกเสียงให้ชัดเจน
๔.  เน้นเสียงและถ้อยคำ ตามน้ำหนักความสำคัญของใจความ ใช้เสียงและจังหวะให้เป็นไปตามเนื้อเรื่อง เช่น ดุ อ้อนวอน จริงจัง ฯลฯ
๕.  อ่านออกเสียงให้เหมาะสมกับประเภทของเรื่อง เช่น ถ้าอ่านเรื่องที่ให้ข้อเท็จจริงทั่วไป จะอ่านออกเสียงธรรมดาให้ชัดเจน                                                                              ๖.  ในระหว่างที่อ่าน ควรกวาดสายตามองตัวอักษร สลับกับการเงยหน้าขึ้นมาสบตาผู้ฟัง ในลักษณะที่เหมาะสม และดูเป็นธรรมชาติ                                                                               ๗.  ถ้าอ่านในที่ประชุม ต้องยืนทรงตัวในท่าทางที่สง่า มือที่จับกระดาษอยู่ในท่าทางทีเหมาะ ไม่เกร็ง ไม่ยกกระดาษ หรือเอกสารบังหน้า หรือไม่ถือไว้ต่ำเกินไปจนต้องก้มลงอ่านจนตัวงอ
การพูดแบบอ่านจากต้นฉบับ (Manuscript Speech)
             การพูดแบบนี้ผู้พูดจะเขียนข้อความที่จะพูดลงไปในต้นฉบับ แล้วเมื่อถึงสถานการณ์การพูดจริง ผู้พูดก็จะนำต้นฉบับนั้นมาอ่านให้ผู้ฟัง ได้รับฟังอีกทีหนึ่ง ซึ่งวิธีการพูดแบบนี้มักใช้ในสถานการณ์การพูดทีเป็นทางการมาก ๆ เช่น ในการกล่าวรายงานทางวิชาการการกล่าวเปิดงาน การกล่าวเปิดประชุม การสรุปผลการประชุม การอ่านข่าวหรือบทความทางวิทยุ-โทรทัศน์ ที่ผ่านการตรวจสอบมาแล้ว การกล่าวตอบโต้ในพิธีต่างๆ หรือการกล่าวแถลง เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกล่าว ต่อหน้าพระพักตร์ ซึ่งถือกันว่าควรใช้วิธีการอ่านมากกว่าการพูดสด แต่ถ้าหากเป็น สถานการณ์ การพูดโดยทั่วไปเป็นทางการหรือ เป็นทางการไม่มากแล้ว ไม่ควรใช้วิธีนี้ เป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจจะทำให้ผู้ฟัง รู้สึกเบื่อหน่าย และหมดความรู้สึกสนใจในตัวผู้พูด อันเนื่องมาจากการที่ผู้พูดต้อง ละสายตามาจากผู้ฟัง มาอยู่ที่ต้นฉบับตลอดเวลา ทำให้ขาดการติดต่อสื่อสาร     ทางสายตากับผู้ฟัง และข้อเสียอีกอย่างหนึ่งก็คือวิธีการพูดแบบอ่านจากต้นฉบับ หรืออาจเรียกว่า อ่านให้ฟัง จะทำให้ผู้พูด ขาดลีลาน้ำเสียง อันมีชีวิตชีวา และบุคลิกภาพอันเป็นตัวของตัวเอง นอกจากนั้นผู้ฟังส่วนใหญ่มักไม่ชอบการพูดแบบนี้ เนื่องจากผู้ฟังมักคิดว่าผู้พูด คงไม่เข้าใจถ่องแท้ในเรื่องที่พูดหรืออาจจะไม่ได้เขียนต้นฉบับด้วยตนองก็ได้
             สำหรับประโยชน์ของการพูดแบบอ่านจากต้นฉบับอยู่ที่ว่าผู้พูดสามารถพูดในเรื่องนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง ไม่มีข้อผิดพลาด อันเนื่องมาจาก การหลงลืม ความตื่นเต้น ความประหม่า ความสับสน หรืออื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการพูดแบบเป็นทางการมาก ๆ หรือการพูดต่อหน้าพระพักตร์ เนื่องจากว่าภาษาพูด ที่เขียนไว้อย่างสมบูรณ์แบบในต้นฉบับ ย่อมสามารถเขียนได้ ไพเราะสละสลวย และมีน้ำหนักมากกว่าการพูดแบบ ปากเปล่า และจะช่วยให้ผู้พูด เกิดความรู้สึกปลอดภัย จากการพุดที่ผิดพลาด
             ส่วนวิธีการเขียนต้นฉบับ (Manuscript) เพื่อการพูดแบบนี้ให้สมบูรณ์แบบที่สุดนั้น ก่อนการเขียนต้นฉบับผู้พูด ต้องเตรียมจัดทำ โครงเรื่องเสียก่อน ครั้นวางโครงเรื่อง ได้สมบูรณ์แล้วผู้พูดจึงเขียนต้นฉบับการพูดลงไปทุกคำพูด ดุจเดียวกับเวลาพุดกับเพื่อนๆ เมื่อเขียนต้นฉบับจบแล้ว ต้นฉบับนั้นยังไม่ถือว่า เป็นต้นฉบับที่สมบูรณ์ ยังเป็นเพียงการร่างครั้งแรกเท่านั้น ผู้พูดต้องอ่านทบทวนร่างนั้นหลายๆ ครั้งแล้วแก้ไข สำนวน ลีลา น้ำหนักคำ และรูปประโยคโดยละเอียด จนเกิดความแน่ใจว่าสิ่งที่เขียนไว้นั้น ถูกต้องตรงกับสิ่งที่เขาประสงค์จะพูด ทุกประการ
             แม้นว่าจะแก้ไขปรับปรุงหลายครั้งจนผู้พูดเกิดความรู้สึกพอใจในต้นฉบับของเขาแล้วก็ตาม ผู้พูดกูควรจะทดสอบ ต้นฉบับของเขา เป็นครั้งสุดท้าย โดยการอ่าน ต้นฉบับดังกล่าว ให้ผู้ร่วมคณะหรือเพื่อบางคนฟัง (หากหาคนฟังไม่ได้อาจอ่านออกเสียงดังๆ ให้ตนเองฟังเพียงลำพัง คนเดียวก็ได้) การทดสอบแบบนี้จะช่วยให้การแก้ไขต้นฉบับการพุดครบถ้วยสมบูรณ์ที่สุด
             เมื่อได้ต้นฉบับการพูดที่สมบูรณ์แบบตามที่ปรารถนาแล้ว ผู้พูดควรพิมพ์ต้นฉบับโดยใช้กระดาษพิมพ์อย่างหนา ระวังอย่าให้คำผิดพลาด ปรากฏ ต้นฉบับพิมพ์ควรสะอาด เนื้อเรื่องควรพิมพ์เป็นตอนสั้น ๆ ข้อความแต่ละตอนต้องจบในหน้าเดียวกันไม่ควรต่อไปหน้าอื่น ริมกระดาษซ้ายมือควรเว้นว่างประมาณ ๓ นิ้ว พิมพ์เลขหน้าทุกหน้าตามลำดับ หมายเลขขอบขวาด้วนบนเพื่อป้องกันการสลับหน้าผิด ควรใช้ลวดเย็บต้นฉบับรวมกันเพื่อป้องกันการหลุด และสูญหาย
             เวลาอ่านต้นฉบับผู้พูด ต้องอ่านโดยใช้เสียงที่เหมือนกับเสียงพูดปกติ เพราะแม้นว่าผู้พูดจะเขียนข้อความด้วยคำพูดของตนเองก็ตาม แต่ก็ไม่แน่ว่าเวลาเขาจะอ่านออกเสียงดุจเสียงพูดตามธรรมชาติของเขาหรือไม่ ดังนั้นเขาควรพยายามที่จะ แสดงพฤติกรรมทุกประการ นับตั้งแต่การแสดงออกทาง สีหน้า แววตา น้ำเสียง ให้กลมกลืนกับเรื่องที่อ่านมากที่สุด
             ดังที่กล่าวแล้วว่าการพูดแบบอ่านจากต้นฉบับนี้ จะทำให้ผู้พูดไม่สามารถติดต่อสื่อสารทางสายตา กับผู้ฟังได้ อันเนื่องจากผู้พูด ต้องละสายตาจากผู้ฟัง มาอยู่ที่ต้นฉบับตลอดเวลา แต่ผู้พูดก็อาจแก้ปัญหาดังกล่าวได้โดยช่วงเวลาที่หยุดเว้นระยะในการพูด ก่อนที่จะอ่าน ข้อความต่อไป ผู้พูดควรเงยหน้าขึ้น มองผู้ฟังก่อนแล้วจึงอ่านต่อไป การกระทำเช่นนี้สำหรับคนเริ่มต้นฝึกหัดใหม่ๆ นับว่ายากมาก แต่เมื่อฝึกฝนบ่อย ๆ แล้วจะเกิดความชำนาญจนเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

ตัวอย่างการพูดแบบอ่านจากต้นฉบับ

ตัวอย่างที่ 1  คำกล่าวรายงานการจัดการสัมมนาทางวิชาการ
เรื่อง  บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในการแก้ปัญหาวิกฤตสังคม
ในวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2539
โดย
ดร. จันทร์ วงษ์ขมทอง
ประธานกรรมการวิชาการ สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชาแห่งประเทศไทย

กราบเรียน ท่านประธาน

             ในนามของสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ใคร่ขอแสดงความขอบคุณ ฯพณฯ องคมนตรี ที่ได้ให้เกียรติ และสละเวลาอันมีค่าของท่านมาเป็นประธานการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในการแก้ปัญหาวิกฤตสังคม ในวันนี้เป็นอย่างยิ่ง

             ดิฉันใคร่ขอกราบเรียนถึงหลักการ เหตุผล ของการจัดสัมมนา ซึ่งเป็นเรื่องของสังคม และประเทศชาติโดยตรง เป็นเรื่องที่ ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าประเทศของเรามีปัญหาที่ร้ายแรง โดยเฉพาะเรื่องปัญหาแรงงาน อันเกิดจากความด้อยประสิทธิภาพ ของการจัดการบริหาร ทำให้ครอบครัวขนบทซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาล่มสลาย ส่วนชุมชนในเมืองใหญ่ ก็เต็มไปด้วย ธุรกิจทางเพศ การล่อลวงเด็กหญิงเพื่อการค้าประเวณี และปัญหาโรคเอดส์ วัณโรค ยาบ้า อาชญากรรมแทบทุกรูปแบบ ความตาย และความสูญเสียทรัพย์สิน จากการจราจร และโรงงานอุตสาหกรรม และการทำลายแหล่งน้ำโดย โรงงานอุตสาหกรรม และประชาชนส่วนหนึ่ง การจราจรติดขัดก่อให้เกิดผลทางลบคิดเป็นมูลค่าความสูญหายอย่างมหาศาล มีการตัดไม้ทำลายป่า จนเหลือป่า เพียงร้อยละ ๑๘ ค่าแรงสำคัญมีราคาสูงกระทบต่อการผลิตสินค้า และการส่งออก การสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ ของการพัฒนา ไม่มีคุณภาพ และไม่เพียงพอ เป็นวิกฤตการทางสังคมซึ่งหลายฝ่ายได้พยายามแก้ไขแต่ก็ไร้ผล จนทำให้คณะกรรมการ พัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ กำหนดแผน และเป้าหมายการพัฒนาสังคมใหม่
             การสัมมนาในวันนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะหาข้อเสนอแนะจากผู้เข้าสัมมนาซึ่งมีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ด้าน อุดมศึกษา และการพัฒนาในการหาแนวทางแก้ไข และวิธีการพัฒนาให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามนโยบายของ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘
การสัมมนาจะเป็นการอภิปรายทั้งวัน โดยช่วงเช้าจะเป็นเรื่องสภาพปัญหา และบทบาทสถาบันอุดมศึกษาในการแก้ปัยกาเยาวชน และสวัสดิการตามความมั่นคงแห่งชาติ และสิ่งเสพติด
              สำหรับช่วงบ่าย เป็นเรื่องของสุขภาพอานามัย ปัญหาศีลธรรมทางเพศ และอุบัติภัย และมลพิษสิ่งแวดล้อม
              บัดนี้ได้เวลาอันเป็นอุดมฤกษ์แล้ว ดิฉันใคร่ของกราบเรียนเชิญท่านประธานได้กระทำพิธีเปิดการสัมมนา และกล่าวปราศรัย เพื่อเป็นสิริมงคล ขวัญกำลังใจ และแนวทางการสัมมนาให้บรรลุวัตถุประสงค์
ขอกราบเรียนเชิญท่านประธาน


ตัวอย่างที่ 2

คำกล่าวเปิดการสัมมนาทางวิชาการ
เรื่อง บทบาทของการสถาบันอุดมศึกษาในการแก้ปัญหาวิกฤติทางสังคม
วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2539
ฯพณฯ ดร.อำพล เสนาณรงค์
องคมนตรี

ท่านผู้เข้าร่วมสัมมนา และท่านแขกผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน

             กระผมรู้สึกมีความยินดี และ เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการสัมมนาทางวิชาการ ซึ่งทางสมาคม สถาบันอุดมศึกษาเอกชน แห่งประเทศไทย และทบวงมหาวิทยาลัยจัดขึ้นในวันนี้ กระผมเห็นด้วยกับรายงานของท่านประธานกรรมการ ฝ่ายวิชาการของสมาคม ที่ได้กล่าวว่าสังคมของเรากำลังประสบกับปัญหา ในระดับที่รุนแรงน่าวิกนยิ่ง ท่านทั้งหลายคงทราบดีว่าหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนไม่น้อยได้พยายามที่จะคลี่คลายปัญหา และการจัดเตรียมแผนการทำงานใหม่ให้มีความเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จนทำให้รู้สึกว่ายิ่งพัฒนาก็ยิ่งทำให้สังคมของเราเสื่อมลง จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัย และควรทำการวิจัยศึกษาเป็นอย่างยิ่งว่า อะไรเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้การพัฒนาของเรามีปัญหา และหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขอย่างไร สังคมของเราจึงจะเป็นสังคมที่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน
             กระผมเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยของไทยเรามีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ๔ ประการ ซึ่งได้แก่ การจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการสังคม และการรักษาจรรโลงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศ หลาย ๆ มหาวิทยาลัยได้บรรลุเป้าหมายพอสมควร โดยเฉพาะในปัจจุบัน ทบวงมหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น โดยจัดให้มี การประกันคุณภาพ และการควบคุมคุณภาพทางการศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของการพัฒนา ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ คงมีความเห็นพ้องกันว่าความก้าวหน้าของ การพัฒนาสังคมโดย มุ่งเน้นไปที่คุณภาพ ชีวิตของคน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ ของแผนพัฒนา เศรษฐกิจ และสังคมฉบับที่ ๘ นั้นย่อมขึ้นกับ ตัวแปรหรือปัจจัยสำคัญหลายอย่าง กระผมตระหนักดีว่า การศึกษาเป็นปัจจัย และ ขบวนการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่แท้จริงได้ หมายความว่า เราจะต้องใช้สาระทางวิชาการ และขบวนการทางการศึกษา ที่จะทำให้เด็ก และเยาวชนได้รู้ได้เข้าใจสาระ ความเป็นจริงของแก่นสาร ของชีวิตรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติ และสามารถใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม แต่ถ้ามีก็จะเป็นการสูญเสียเพียงเล็กน้อย ขณะเดียวกันเราก็ต้องพยายามค้นคว้าหาสิ่งใหม่มาทดแทนสิ่งที่กำลังจะหมดไป และเป็นสิ่งที่ มีราคาค่าใช้จ่าย น้อยลง เพื่อให้เกิดการสมดุล การที่เราจำเป็นจะต้องทำเช่นนี้ ก็เพราะคนเรากับธรรมชาติแยกกันไม่ได้ ต้องมีลักษณะ พึ่งพาซึ่งกัน และกัน นั่นหมายความว่า การทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ก็คือการทำลายตนเอง ครอบครัว และสังคม ซึ่งเกิดปัญหา หลายประการ ดังที่สมาคม ได้กล่าวถึง จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาให้ได้ ผมขอกล่าวเพิ่มเติม อีกเล็กน้อยว่าการจัดการการศึกษาที่ดีที่เหมาะสม จะต้องกระทำในทุกระดับโดยเฉพาะในการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปรียบเสมือน การปลูกต้นไม้ หากการเตรียมดิน การจัดการสิ่งแวดล้อม และการดูแลรักษาต้นไม้ ไม่ดีไม่ถูกต้อง เราก็จะไม่ได้รับประโยชน์ จากการปลูกต้นไม่นั้น ขณะเดียวกันก็จะเป็นผลร้ายด้วยซ้ำไป ดังนั้นการที่เรา จะปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการจัดการ พัฒนาให้ถูกต้อง มาตั้งแต่เล็กๆ เมื่อเขาเติบโตขึ้นก็จะเป็นปัญหาของสังคมดังที่ปรากฏอยู่
             ดังนั้นในการสัมมนาในวันนี้ ท่านทั้งหลายคงจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดความเห็น ในเรื่องบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา ในการแก้ปัญหา วิกฤติทางสังคม เพื่อเป็นพื้นฐาน และแนวทางในการแก้ปัญหาหาต่อไป กระผมมั่นใจว่าผลการสัมมนาครั้งนี้ จะบรรลุวัตถุประสงค์ ตามที่ตั้งไว้ทุกประการ บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้วกระผมของเปิดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่องบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา ในการแก้ปัญหาวิกฤติ ทางสังคม ณ บัดนี้ ขออวยพรให้การสัมมนา จงดำเนินไปด้วยดีได้ผลสมปรารถนาอัน จะเป็นประโยชน์ต่อ การแก้ปัญหา วิกฤติทางสังคม และเป็นแนวทางในการดำเนินงาน ที่จะทำให้ประเทศของเราบรรลุขั้นการพัฒนาแบบยั่งยืนต่อไป และขอความสุขสวัสดี จงมีแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน
-----------------------------------------------------------------------







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น