วันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ใบความรู้การสื่อสาร





ความรู้พื้นฐานเรื่องการสื่อสาร
             การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต  มนุษย์จำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกันอยู่ตลอดเวลา    การสื่อสารจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งนอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์  การสื่อสารมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์มาก   การสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่ง      ในปัจจุบัน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยุคโลกาภิวัตน์ เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร  การสื่อสารมีประโยชน์ทั้งในแง่บุคคลและสังคม การสื่อสารทำให้คนมีความรู้และโลกทัศน์ที่กว้างขวางขึ้น   การสื่อสารเป็นกระบวนการที่ทำให้สังคม เจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง   ทำให้มนุษย์สามารถสืบทอดพัฒนา เรียนรู้ และรับรู้วัฒนธรรมของตนเองและสังคมได้  การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ  สร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแก่ชุมชน และสังคมในทุกด้าน                
ความหมายของการสื่อสาร 
            คำว่า  การสื่อสาร (communications)  มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาลาตินว่า  communis หมายถึง  ความเหมือนกันหรือร่วมกัน   การสื่อสาร (communication)    หมายถึงกระบวนการถ่ายทอดข่าวสาร  ข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์  ความรู้สึก ความคิดเห็น ความต้องการจากผู้ส่งสารโดยผ่านสื่อต่าง ๆ ที่อาจเป็นการพูด การเขียน สัญลักษณ์อื่นใด การแสดงหรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ไปยังผู้รับสาร ซึ่งอาจจะใช้กระบวนการสื่อสารที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม หรือความจำเป็นของตนเองและคู่สื่อสาร  โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการรับรู้ร่วมกันและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกัน  บริบททางการสื่อสารที่เหมาะสมเป็น ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การสื่อสารสัมฤทธิ์ผล
องค์ประกอบของการสื่อสาร
องค์ประกอบที่สำคัญของการสื่อสาร มี 4 ประการ ดังนี้
1.  ผู้ส่งสาร (sender) หรือ แหล่งสาร (source) หมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล หรือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการส่งสาร หรือเป็นแหล่งกำเนิดสาร ที่เป็นผู้เริ่มต้นส่งสารด้วยการแปลสารนั้นให้อยู่ในรูปของสัญลักษณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นแทนความคิด ได้แก่ ภาษาและอากัปกิริยาต่าง ๆ เพื่อสื่อสารความคิด  ความรู้สึก ข่าวสาร ความต้องการและวัตถุประสงค์ของตนไปยังผู้รับสารด้วยวิธีการใด ๆ หรือส่งผ่านช่องทางใดก็ตาม   จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม    เช่น  ผู้พูด  ผู้เขียน  กวี  ศิลปิน นักจัดรายการวิทยุ  โฆษกรัฐบาล  องค์การ  สถาบัน  สถานีวิทยุกระจายเสียง  สถานีวิทยุโทรทัศน์   กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์  หน่วยงานของรัฐ  บริษัท  สถาบันสื่อมวลชน  เป็นต้น
คุณสมบัติของผู้ส่งสาร
1.  เป็นผู้ที่มีเจตนาแน่ชัดที่จะให้ผู้อื่นรับรู้จุดประสงค์ของตนในการส่งสาร แสดงความคิดเห็น หรือวิจารณ์
2.  เป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาของสารที่ต้องการจะสื่อออกไปเป็นอย่างดี          
3.  เป็นผู้ที่มีบุคลิกลักษณะที่ดี มีความน่าเชื่อถือ แคล่วคล่องเปิดเผยจริงใจ และมีความรับผิดชอบใน                ฐานะเป็นผู้ส่งสาร
4.  เป็นผู้ที่สามารถเข้าใจความพร้อมและความสามารถในการรับสารของผู้รับสาร
5.  เป็นผู้รู้จักเลือกใช้กลวิธีที่เหมาะสมในการส่งสารหรือนำเสนอสาร 
2.  สาร (message) หมายถึง  เรื่องราวที่มีความหมาย หรือสิ่งต่าง ๆ ที่อาจอยู่ในรูปของข้อมูล ความรู้ ความคิด ความต้องการ อารมณ์ ฯลฯ   ซึ่งถ่ายทอดจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสารให้ได้รับรู้ และแสดงออกมาโดยอาศัยภาษาหรือสัญลักษณ์ใด ๆ  ที่สามารถทำให้เกิดการรับรู้ร่วมกันได้  เช่น  ข้อความที่พูด   ข้อความที่เขียน   บทเพลงที่ร้อง  รูปที่วาด  เรื่องราวที่อ่าน  ท่าทางที่สื่อความหมาย  เป็นต้น
      2.1  รหัสสาร (message code)ได้แก่ ภาษา สัญลักษณ์ หรือสัญญาณที่มนุษย์ใช้เพื่อแสดงออกแทนความรู้ ความคิด อารมณ์ หรือความรู้สึกต่าง ๆ 
      2.2  เนื้อหาของสาร  (message content) หมายถึง บรรดาความรู้ ความคิดและประสบการณ์ที่ผู้ส่งสารต้องการจะถ่ายทอดเพื่อการรับรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนเพื่อความเข้าใจร่วมกันหรือโต้ตอบกัน
       2.3  การจัดสาร (message treatment) หมายถึง การรวบรวมเนื้อหาของสาร แล้วนำมาเรียบเรียงให้เป็นไปอย่างมีระบบ   เพื่อให้ได้ใจความตามเนื้อหา ที่ต้องการด้วยการเลือก ใช้รหัสสารที่เหมาะสม
3.  สื่อ หรือช่องทาง (media or channel) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการสื่อสาร  หมายถึง  สิ่งที่เป็นพาหนะของสาร  ทำหน้าที่นำสารจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร   ผู้ส่งสารต้องอาศัยสื่อหรือช่องทางทำหน้าที่นำสารไปสู่ผู้รับสาร   
4.  ผู้รับสาร (receiver)  หมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล หรือมวลชนที่รับเรื่องราวข่าวสารจากผู้ส่งสาร   และแสดงปฏิกิริยาตอบกลับ (Feedback) ต่อผู้ส่งสาร  หรือส่งสารต่อไปถึงผู้รับสารคนอื่น ๆ ตามจุดมุ่งหมายของผู้ส่งสาร   เช่น   ผู้เข้าร่วมประชุม   ผู้ฟังรายการวิทยุ   กลุ่มผู้ฟังการอภิปราย  ผู้อ่านบทความจากหนังสือพิมพ์  เป็นต้น
ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร
          ภาษา คือ  สัญลักษณ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการสื่อความเข้าใจระหว่างกันของคนในสังคม   ช่วยสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน  ช่วยสร้างความสัมพันธ์ของคน ในสังคม  ถ้าคนในสังคมพูดกันด้วย ถ้อยคำที่ดีจะช่วยให้คนในสังคมอยู่กันอย่างปกติสุข  ถ้าพูดกันด้วยถ้อยคำไม่ดี   จะทำให้เกิดความบาดหมางน้ำใจกัน    ภาษาจึงมีส่วนช่วยสร้างมนุษยสัมพันธ์ ของคนในสังคม   ภาษาเป็นสมบัติของสังคม ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารมี  2  ประเภท  คือ  วัจนภาษาและอวัจนภาษา    
          1. วัจนภาษา (verbal language)
           วัจนภาษา  หมายถึง  ภาษาถ้อยคำ  ได้แก่  คำพูดหรือตัวอักษรที่กำหนดใช้ร่วมกันในสังคม  ซึ่งหมายรวมทั้งเสียง  และลายลักษณ์อักษร  ภาษาถ้อยคำเป็นภาษาที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างมีระบบ  มีหลักเกณฑ์ทางภาษา  หรือไวยากรณ์ซึ่งคนในสังคมต้องเรียนรู้และใช้ภาษาในการฟัง  พูด  อ่าน  เขียนและคิด การใช้วัจนภาษาใน การสื่อสารต้องคำนึงถึงความชัดเจนถูกต้องตามหลักภาษา  และความเหมาะสมกับลักษณะ  การสื่อสาร  ลักษณะงาน  เป้าหมาย  สื่อและผู้รับสาร  วัจนภาษาแบ่งออกเป็น  2  ชนิด  คือ                                                                                                             1.  ภาษาพูด  ภาษาพูดเป็นภาษาที่มนุษย์เปล่งเสียงออกมาเป็นถ้อยคำเพื่อสื่อสารกับผู้อื่น  นักภาษาศาสตร์ถือว่าภาษาพูดเป็นภาษาที่แท้จริงของมนุษย์  ส่วนภาษาเขียนเป็นเพียงวิวัฒนาการขั้นหนึ่งของภาษาเท่านั้น  มนุษย์ได้ใช้ภาษาพูดติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นอยู่เสมอ  ทั้งในเรื่องส่วนตัว  สังคม  และหน้าที่การงาน  ภาษาพูดจึงสามารถสร้างความรัก  ความเข้าใจ  และช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  ในสังคมมนุษย์ได้มากมาย
          2.  ภาษาเขียน  ภาษาเขียนเป็นภาษาที่มนุษย์ใช้อักษรเป็นเครื่องหมายแทนเสียงพูดในการสื่อสาร  ภาษาเขียนเป็นสัญลักษณ์ของการพูด  ภาษาเขียนนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้บันทึกภาษาพูด  เป็นตัวแทนของภาษาพูดในโอกาสต่าง ๆ  แม้นักภาษาศาสตร์จะถือว่าภาษาเขียนมิใช่ภาษาที่แท้จริงของมนุษย์   แต่ภาษาเขียนเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารของมนุษย์  มาเป็นเวลาช้านาน  มนุษย์ใช้ภาษาเขียนสื่อสารทั้งในส่วนตัว  สังคม  และหน้าที่การงาน  ภาษาเขียนสร้างความรัก  ความเข้าใจ  และช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ  ในสังคมมนุษย์ได้มากมายหากมนุษย์รู้จักเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบุคคล  โอกาส  และสถานการณ์


วิธีแก้ไขอุปสรรคของการสื่อสาร
             ได้กล่าวมาแล้วว่า ถ้าเราเข้าใจถึงอุปสรรคของการสื่อสารแล้ว เราก็มีหนทางที่จะแก้ไขอุปสรรคให้หมดไปได้ ทั้งนี้เราต้องใช้ไหวพริบ มีความพยายาม ตั้งใจจริงและอาศัยบุคคลอื่นให้ช่วยวิเคราะห์แนะนำ การแก้ไขอุปสรรคจึงจะสำเร็จลุล่วงด้วยดี
             ต่อไปนี้จะชี้ให้เห็นแนวทางกว้างๆ ในการแก้ไขอุปสรรคของการสื่อสาร ซึ่งเกิด ณ องค์ประกอบส่วนต่างๆ ของการสื่อสาร
             ๑.     ผู้รับ-ผู้ส่งสาร  เมื่อผู้รับสารและผู้ส่งสารสังเกตเห็นว่า การสื่อสารไม่อาจดำเนินไปได้โดยราบรื่น แทนที่จะรู้สึกหงุดหงิด ขุ่นเคือง รำคาญใจ เสียใจ และสงบจิตใจ ทำใจให้เป็นกลาง และไม่ควรหวั่นไหวไปกับความสับสนที่เกิดขึ้นกับการสื่อสารนั้นๆ ค่อยๆ พิจารณาดูว่าตนเองด่วนสรุปหรือไม่ ตนเองขาดพื้นความรู้ ขาดประสบการณ์มาก่อนหรือไม่อย่างไร ตนเองใจร้อนใจเร็วเกินไปหรือไม่ ตนคาดหวังสูงไป คิดว่าบุคคลที่ตนสื่อสารด้วยจะเข้าใจเหมือนกับตนหรือไม่ การรู้จักพิจารณาตนเองเช่นที่กล่าวมานี้จะช่วยควบคุมไม่ให้เกิดความรู้สึกหวั่นไหวไปกับความสับสนที่เกิดขึ้นกับการสื่อสาร
             ที่กล่าวมานี้เป็นการสื่อสารระหว่างบุคคล แต่ถ้าเป็นการสื่อสารทางเดียวไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การฟัง หรือการดูก็ตาม หากผู้รับสารเกิดความสงสัย เข้าใจสับสนงุนงงไม่ควรด่วนสรุปว่า ตัวสารหรือผู้ส่งสารเป็นต้นเหตุของความรู้สึกดังกล่าว อุปสรรคของการสื่อสารอาจเกิดขึ้นที่ตัวเราเองก็ได้ เช่น ตนเองอาจขาดความพร้อมที่จะรับสาร ไม่เคยสนใจเรื่องนั้นมาก่อน มีพื้นความรู้ในเรื่องนั้นไม่พอ หรือบางทีอาจมีอคติต่อผู้ส่งสาร เป็นต้น  ความเข้าใจเช่นนี้มีประโยชน์ เพราะจะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงตนเองให้มีความพร้อมยิ่งขึ้น ไม่ก่อให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจแก่ทุกฝ่าย อุปสรรคของ  การสื่อสารก็จะหมดไปในที่สุด
             เมื่อเป็นผู้ส่งสาร หากสารของตนไม่สามารถบรรลุผลตามที่มุ่งหมาย เช่น ไม่ทำให้ผู้รับเข้าใจ    เห็นจริง ยอมรับเหตุผล ยอมเปลี่ยนพฤติกรรม ก็ไม่ควรด่วนสรุปว่า เป็นความบกพร่องของฝ่ายผู้รับสาร ควรพิจารณาว่าตนเองอาจส่งสารไปผิดกาลเทศะ สารอาจซับซ้อนเกินไป หรือแม้แต่ง่ายเกินไปก็ได้ การพิจารณาเช่นนี้จะช่วยให้คิดปรับปรุงตนเองในฐานะที่เป็นผู้ส่งสาร และช่วยป้องกันแก้ไขอุปสรรคของการสื่อสารให้ลดน้อยลงหรือหมดไปได้เช่นกัน
             ๒.     ตัวสาร  เราควรเข้าใจว่า สารเรื่องเดียวกัน อาจนำเสนอได้หลายวิธี การนำเสนอด้วยวิธีหนึ่งอาจเข้าใจยาก สำหรับบุคคลกลุ่มหนึ่ง อาจเข้าใจง่ายสำหรับบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง เราจึงต้องเลือกวิธีนำเสนอสารให้เกิดอุปสรรคในการสื่อสารน้อยที่สุดหรือไม่เกิดขึ้นเลย เช่น การชวนเพื่อนร่วมงานไปเที่ยววันหยุดสุดสัปดาห์ ควรบอกด้วยวาจาจะได้ผลดีกว่าเขียนบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะถ้านำเสนอเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้รับอาจเกิดปฏิกิริยาต่อต้านหรือเคลือบแคลงใจว่า เจตนาแท้จริงของผู้นำเสนอเป็นอย่างไร แต่ถ้าฝากเพื่อนที่เดินทางไปต่างประเทศให้ช่วยซื้อกล้องถ่ายรูป ควรจดลายละเอียดให้ชัดเจน เพราะการบอกด้วยวาจาอาจขาดรายละเอียดที่สำคัญไป หรือผู้รับฝากอาจหลงลืมได้
             อนึ่ง  สารบางอย่างต้องนำเสนอทั้งการพูดและการเขียน เพื่อเสริมซึ่งกันและกันจึงจะสัมฤทธิผลสมความมุ่งหมาย
             ๓.     ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ผู้ใช้ภาษาจำเป็นต้องระมัดระวัง เลือกใช้ถ้อยคำให้สื่อ ความชัดเจนเป็นที่เข้าใจแก่ผู้รับสาร ไม่ควรใช้คำพูดกำกวม ไม่ควรใช้คำยากหรือคำศัพท์ถ้าไม่จำเป็น ประโยคที่ยืดยาวเกินไป มักจะยากแก่การเข้าใจ ถ้าเป็นการเขียนยิ่งต้องระมัดระวังมากกว่าการพูด เพราะผู้อ่านไม่อาจสอบถามทำความเข้าใจได้โดยทันที อาจต้องใช้วิธีคาดเดาหรือตีความเอาเอง โอกาส     ที่ผู้อ่านจะเข้าใจผิดพลาดจึงมีได้มาก พึงระลึกอยู่เสมอว่าภาษาเป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสารเป็นปัจจัย ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันจึงน่าจะระมัดระวังไม่ให้กลายเป็นอุปสรรคของการสื่อสาร
             จุดมุ่งหมายสำคัญในการเรียนวิชาหลักภาษาและการใช้ภาษา ก็เพื่อให้รู้จักใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ส่วนการเรียนวิชาวรรณคดีนั่นจุดมุ่งหมายสำคัญคือ เพื่อให้เข้าใจภาษาที่กวีหรือนักประพันธ์ใช้ในการสื่อความคิดและจินตนาการมายังผู้อ่าน มิได้มุ่งให้ภาษาเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของกวี
             ๔. สื่อ  สื่อที่เป็นอุปสรรคแก่การสื่อสารนั้น บางอย่างก็ไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะแก้ไขได้ เช่น โทรศัพท์ เครื่องรับวิทยุกระจายเสียง หรือเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์เกิดขัดข้อง และเมื่อไฟฟ้าดับ สื่อหลายชนิดก็ไม่สามรถใช้การได้
          อย่างไรก็ดี สื่อหลายชนิดอยู่ในวิสัยที่เราจะแก้ไขไม่ให้เกิดอุปสรรคได้ เช่น ถ้าเราพิจารณาเห็นว่า ห้องประชุมหรือสถานที่ที่เราจะใช้พูดจาทำความเข้าใจกัน หรือเสียงอื้ออึงอากาศอบอ้าวและไม่อำนวยความสะดวกเท่าที่ควร เราก็หาสถานที่ใหม่ ถ้าไม่ได้จริงๆ อาจเลื่อนการประชุมหรือกิจกรรมการพูดนั้นไปก่อน หรือในการใช้แผ่นใสปรากฏว่าภาพที่จอไม่ชัดเจน ผู้ที่นั่งอยู่ใกล้มองเห็น แต่ผู้ที่นั่งอยู่ไกลมองไม่เห็น การสื่อสารนั้นย่อมเกิดอุปสรรคก็ควรหลีกเลี่ยงไปใช้สื่ออย่างอื่น เช่น แจกเอกสารประกอบน่าจะดีกว่า ในกรณีที่ใช้บุคคลให้ไปทำกิจใดๆ ให้ ถ้าบุคคลผู้นั้นขาดสมรรถภาพในการฟังการพูด รับสารจากผู้ส่งสารได้ไม่ครบถ้วน รายงานให้แก่ผู้รับสารได้ไม่ชัดเจน อุปสรรคการสื่อสารก็ต้องเกิดขึ้น ฉะนั้นแทนที่จะบอกด้วยวาจา ควรเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรให้นำไปจะเหมาะสมกว่า
             ๕.     กาลเทศะและสภาพแวดล้อม ในการสื่อสาร ถ้าใช้เวลามากเกินไปก็กลายเป็นอุปสรรค ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกันได้ แต่ถ้าใช้เวลาน้อย ก็ควรจะรวบรัดเพราะอาจไม่เกิดความเข้าใจที่ดีได้เช่นกัน จึงต้องประมาณเวลาให้พอเหมาะ นอกจากนี้ยังจะต้องเลือกเวลาที่เหมาะสมด้วย เช่น เมื่อเราพบกับผู้ที่เราจะสื่อสารด้วยในโอกาสแรก ก็ไม่ควรนำเรื่องทีเป็นข่าวร้ายมาแจ้งให้ทราบโดยทันที ควรทิ้งระยะหรือนำเรื่องอื่นขึ้นพูดก่อน ใช้ไหวพริบประมาณดูว่าถึงโอกาสเหมาะแล้ว จึงค่อยแจ้งข่าวร้ายนั้นให้ทราบ  การขอร้อง การชักชวน ในกิจต่างๆ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน  หากเริ่มผิดเวลา ผิดกาละ ก็จะเกิดอุปสรรคของการสื่อสารได้เช่นกัน นอกจากนี้ควรคำนึงถึงสถานที่ด้วยอย่าให้กลายเป็นอุปสรรค เช่น เมื่ออยู่ต่อหน้าบุคคลอื่น เรื่องบางเรื่องไม่ควรพูด แต่อยู่เฉพาะสองต่อสอง เรื่องนั้นอาจนำมาพูดได้โดยสะดวกใจ ไม่เกิดอุปสรรคในการสื่อสาร




เรื่อง  วิเคราะห์สถานการณ์และแก้อุปสรรคในการสื่อสาร

ให้นักเรียนวิเคราะห์สถานการณ์ที่กำหนดให้ และแก้ไขอุปสรรคในการสื่อสารต่อไปนี้
สถานการณ์
อุปสรรคของการสื่อสาร
วิธีแก้ไข
๑. ลุงแช่มไม่สบายจึงไปพบหมอที่โรงพยาบาลของจังหวัดหมอสั่งลุงแช่มว่า พรุ่งนี้ให้มาพบหมออีกครั้งเพื่อตรวจเลือด หมอสั่งห้ามลุงแช่มกินอาหารหรือดื่มน้ำหลังเที่ยงคืนไปแล้ว ตอนเช้าไม่ต้องกินข้าวบ้าน ให้มาพบหมอเพื่อจะเจาะเลือดเลย
    วันรุ่งขึ้น ลุงแช่มไปหาหมอ หมอถามว่า ลุงกินข้าวมารึป่าว ลุงแช่มตอบหมอว่า ผมไม่กินข้าวบ้านมากินที่โรงหมอ แหม! หมดไปหลายเงิน


๒. ในการรายงานเรื่อง การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ นักเรียนที่ออกมารายงานเสนอข้อมูลไม่สู้ตรงกันนัก บางคนเสนอรายละเอียดที่ขัดกันก็มี ทำให้ยากที่จะตัดสินใจได้ว่า สิ่งที่ถูกต้องคืออะไร


๓. สงกรานต์เขียนประกาศเพื่อขายบ้านเนื่องจากจะต้องย้ายครอบครัวไปอยู่ต่างประเทศ ข้อความมีว่าขายเทาว์เฮ้าส์ ราคาถูก ติดถนนใหญ่สนใจติดต่อด่วน


๔. นักเรียนกลุ่มหนึ่งต้องเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปร่วมสัมมนาโครงการโรงเรียนสีขาว ในช่วงเวลาที่นักเรียนกำลังจะสอบปลายภาค


๕. พิจารณาข้อความสำนวนไทยต่อไปนี้
    ๑) บริษัทของท่านส่งผ้าขาด
    ๒) หลานคุณพูดคุยโทรศัพท์กับคุณย่าโดยผ่านทางโทรศัพท์ที่มีความขัดข้องทางเทคนิค
    ๓) น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง
    ๔) ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด
    ๕) ติเรือทั้งโกลน




 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น